ทุกวันนี้ความหลากหลายในการจัดเครื่อง PC สำหรับการเล่นเกมหรือใช้งานนั้นมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ใช้สามารถเลือกสเปคจัดเครื่องคอมตามความต้องการได้ง่ายมาก อยากมีสเปคแรงราคาไม่แพงก็ทำได้ไม่ยาก ซึ่งถ้าจัดดี ๆ คุณอาจจะได้ทั้ง CPU ตัวแรง การ์ดจอตัวโหดในราคาไม่ถึงครึ่งแสนได้เลย
แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักจะมองข้ามไป นั่นก็คือเรื่องของความร้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างใช้งาน โดยเฉพาะบน CPU ที่หลายต่างซีเรียสกันมาก ๆ โดยเฉพาะใน CPU Intel รุ่นใหม่ใน Gen 13 และ 14 ที่ขึ้นชื่อลือชาว่าร้อนมากจนแทบเอาไปเจียวไข่ได้เลย ถ้าเป็นชุด Sink ที่มาพร้อมในกล่อง รับประกันได้เลยว่าอุณหภูมิปกติยังไงก็เกิน 80 องศา แทบไม่ต้องคิดถึงตอน Full Load ที่ยังไงก็แตะที่ 100 แน่นอน
ดังนั้นแล้วสิ่งที่หลายคนเริ่มมาให้ความสำคัญกันในยุคนี้ ก็คือ Heat Sink ระบายความร้อน ไม่ว่าจะเป็นแบบลมหรือชุดน้ำ ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป วันนี้ 4 Gamers จะมาแนะนำข้อดีข้อเสียและวิธีเลือกซื้อแบบถึงกึ๋นให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน!
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ Heat Sink ประเภทต่าง ๆ กันก่อน โดยหลักแล้วจะมีใช้งานและวางจำหน่ายอยู่สามแบบดังต่อไปนี้
ชุดลม
นี่คือชุดระบายความร้อนพื้นฐานที่มีติดตัวมากับ CPU อยู่แล้ว(ยกเว้นคุณซื้อแบบไม่มีกล่องมา) ซึ่งชุดระบายความร้อนที่แถมมากับ CPU นั้นอยู่ในระดับที่ "พอใช้ได้" ซึ่งก็มีการระบายความร้อนได้ในระดับการใช้งานทั่วไปที่ความร้อนจะไม่มีทางสูงกว่า 100 องศาแน่นอน(อาจมีบางกรณีที่ร้อนเกินกว่านั้น แต่พบได้ยาก)
ยกเว้นแค่ว่าผู้ใช้งานจะทำอะไรนอกเหนือจากนั้น เช่นเอา CPU ไป Overclock ให้แรงกว่าเดิม หรือห้องที่อยู่มีอากาศร้อน นั่นก็ทำให้ความร้อนสะสมของ CPU นั้นสูงขึ้นจนเกินได้ ดังนั้นจึงมี Sink ลมที่ผลิตโดยผู้พัฒนาอื่น ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองในส่วนนี้ พร้อมกับลูกเล่นที่มากกว่าเดิม
โดยส่วนใหญ่แล้ว Heat Sink ที่ขายแยกนั้นจะมีออปชั่นเสริมที่ดีกว่า Heat Sink ปกติมากมาย อย่างเช่นพัดลมขนาดใหญ่ขึ้น, มี Heat Pipe นำความร้อน, มีรอบพัดลมที่มากขึ้นแต่เสียงเงียบลง และเหนือสิ่งอื่นใด ลดความร้อนลงอย่างมาก จากที่ CPU จะร้อนไปเกือบร้อย ก็อาจจะลดเหลือไม่ถึง 70 ได้เลย และยังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับชุดน้ำในรูปแบบอื่น ๆ รวมถึงดูแลรักษาได้ไม่ยาก พร้อมอายุการใช้งานนานอีกด้วย
แต่ข้อเสียของมันก็คือขนาดที่ใหญ่มากในหลาย ๆ รุ่น และเสียงรบกวนในช่วงที่ทำงาน ยิ่งโดยเฉพาะ Sink ลมขนาดเล็กที่มีรอบพัดลมสูง ช่วงที่ทำงานหนัก ๆ นั้นเรียกว่าเสียงดังพอกับเฮลิคอปเตอร์ลงได้เลย อีกทั้งรูปทรงก็ไม่ได้น่าดึงดูดใจเท่าไหร่และกินพื้นที่มาก ใครที่จัด Air Flow ในเคสไม่ดีก็อาจจะร้อนกว่าเดิมก็ได้ จึงต้องระวังตรงจุดนี้ให้ดี แถมความเย็นก็ยังสู้พวกชุดน้ำปิดหรือเปิดตัวแพง ๆ ไม่ค่อยได้ ซึ่งก็แลกมากับราคาที่ถูกกว่ามาก ๆ ด้วยเช่นกัน
รุ่นที่เราแนะนำ
- Thermalright Pearless Assassin
- Thermalright Phantom Spirit
- Noctua NH-U12S
- Deepcool AK620
ชุดน้ำปิด
อีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับคนที่พอจะมีงบในการจัดคอมค่อนข้างหนา และอยากได้ความสวยงามไม่ดูใหญ่จนบัง Mainboard จนมิด และมีลูกเล่นเจ๋ง ๆ ให้ใช้สำหรับรุ่นที่มีราคาสูง เช่นจอ LCD แสดงผลที่ใส่ภาพแสดงลูกเล่นได้หลากหลายมาก แถมยังสามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมความยืดหยุ่นที่ค่อนข้างเยอะ
ซึ่งถ้าวัดกันจริง ๆ ชุดน้ำปิดหลายตัวนั้นมีประสิทธิภาพในการระบายความร้อนที่ค่อนข้างดีมากกว่า Heat Sink ลม โดยเฉพาะรุ่นที่มีหม้อน้ำแบบ 3 ตอนขึ้นไป รวมไปถึงข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือเสียงค่อนข้างเงียบกว่าชุดลมในช่วงที่มีการทำงานหนัก ๆ หรือช่วง idle และยังดูแลรักษาได้ง่ายในช่วงอายุของมัน เรื่องความเสี่ยงที่น้ำจะรั่วนั้นมีน้อยจนแทบไม่มีเลย
แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างจะสูงกว่าชุดลมอยู่พอสมควร เพราะถ้าเทียบกันแล้ว ราคาเริ่มต้นของชุด Heat Sink ลมที่มีคุณภาพหน่อยจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็นชุดน้ำปิด ราคาเริ่มต้นจะขยับขึ้นไปที่ประมาณ 3,500 บาทสำหรับชุดน้ำปิด 2 ตอน และประมาณ 5,000 กว่าบาทสำหรับชุดน้ำ 3 ตอน ซึ่งถือว่าสูงกว่ากันพอสมควร อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการเสื่อมสภาพของสายยางต่าง ๆ ที่จะออกอาการหลังใช้ไปหลาย ๆ ปีอีกด้วย
แต่ถ้าใครอยากได้ความสวย ความเงียบ การระบายความร้อนและลูกเล่นที่มากกว่า ชุดน้ำปิดถือเป็นตัวจบที่น่าสนใจ แต่อาจจะต้องใส่ใจดูแลมากกว่าชุดลมสักหน่อย เช่นตัว CPU ที่ใช้ การจัดการ Air Flow ในเคส ไม่งั้นอาจได้ไม่คุ้มเสียก็เป็นได้
รุ่นที่เราแนะนำ
- Corsair iCue H170i Elite
- Asus ROG Ryujin III
- NZXT Kraken Elite 360
- Cooler Master Masterliquid 360 ATMOS
- Lian Li Galahad II
ชุดน้ำเปิด
นี่คือท่ายากสำหรับคนที่อยากแต่งคอมไปให้ถึงระดับสุดจัดในย่านนี้อย่างแท้จริง ด้วยราคาของการทำชุดน้ำเปิดแบบเต็มระบบนั้นถือว่าค่อนข้างสูงมาก ๆ เพราะของที่คุณต้องซื้อทั้งหมดนั้นมียิบย่อยมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นบล็อกสำหรับ CPU, บล็อกการ์ดจอ, ท่อขนาดต่าง ๆ , Fitting, หม้อน้ำ, พัดลมอีกหลายตัว และอีกมากมายสารพัดสิ่งที่คุณอาจหมดเงินตรงส่วนนี้ไปได้หลายหมื่นบาทเลยทีเดียว แถมยังมีความเสี่ยงที่ถ้าหากประกอบไม่ดีงานหยาบขึ้นมา ก็จะพากันพังไปทั้งระบบ น้ำรั่วกันอีก
แต่ถ้าถามถึงประสิทธิภาพและการยืดหยุ่นแล้ว ระบบชุดน้ำเปิดนั้นคือที่สุดสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอย่างแท้จริง(ถ้าคุณไม่ได้บ้าถึงขนาดต้องการทำสถิติโลก) มันสามารถดัดแปลงทำอะไรได้หลายอย่างมากตามความต้องการของผู้ใช้ เอาแค่การดัดท่อหรือวางระบบต่าง ๆ ก็มีท่าที่หลากหลายมาก ๆ เรียกว่าวางยังไง เล่น Loop น้ำแบบไหน เลือกเอาได้เลยตามสบาย
ซึ่งถ้าคุณอยากให้คอมที่คุณใช้งานนั้นมีการระบายความร้อนที่ไปสุดทางจริง ใช้หนักจริง ชุดน้ำเปิดจึงเป็นตัวเลือกที่คุณต้องใช้รับมือกับความร้อนระดับสูงมาก ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ดี ก็อย่าลืมศึกษาหาข้อมูลการทำให้ถ่องแท้ ไม่ก็ให้เป็นหน้าที่ของเหล่าผู้เชี่ยวชาญมาจัดการน่าจะดีที่สุด
ข้อควรจำสำหรับการเลือกซื้อชุดระบายความร้อน CPU
- ดูตามงบประมาณที่มีและการใช้งาน
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการจำกัดงบไว้ก่อนจะทำให้เราสามารถประมาณการใช้เงินในส่วนนี้ได้ ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ที่ว่าเราใช้งานเครื่อง PC ของเราโหดที่ระดับไหน เปิดทิ้งไว้ทั้งวันรึเปล่า หรือต้องการความเย็นเพราะมีการ Overclock เพิ่มความเร็วไปสูงมาก หรือไม่อยากยุ่งยากเรื่องการดูแลรักษา ก็ต้องมาดูจุดนี้กันให้ดี ๆ
- อย่าลืมการจัดการ Airflow ในเคส
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ของการเลือกซื้อชุดระบายความร้อน นั่นก็คือการดูทางลมระบายความร้อนหรือ Airflow ให้ดี ดูว่าลมเย็นเข้าทางไหน ลมร้อนออกทางไหน ซึ่งต่อให้เราเลือกตัวระบายความร้อนดีแค่ไหน แต่ถ้าจัดตำแหน่งพัดลมไม่ถูก ทางลมเข้าออกผิด ก็ทำให้ความร้อนไม่หนีไปไหน เผลอ ๆ จะร้อนกว่าเดิมด้วยซ้ำ ซึ่งก็มาดูทางเข้าออกของอากาศให้ดีด้วย
- ดูขนาดของเคสและตัวระบายความร้อนให้ดี
ต่อให้ชุดระบายความร้อนจะเทพขนาดไหน แต่ถ้ายัดเข้าเคสไม่ได้ ที่วางหม้อน้ำไม่มี หรือพัดลมเสริมใส่ไม่ได้ มันก็เท่านั้น ยิ่งโดยเฉพาะเคสแบบ mATX ขนาดเล็ก ที่ชุดลมส่วนใหญ่น่าจะยัดเข้าไปไม่ไหวแน่ ๆ ดังนั้นดูขนาดของเคสที่เราใช้ และชุดระบายความร้อนที่จะซื้อให้ดีด้วย ไม่งั้นเกิดปัญหาใส่ไม่เข้า ยัดไม่ไหว เคสหรือ Mainboard แอ่นจะหาว่าไม่เตือน
- อย่าลืมทาซิลิโคนใหม่ทุกครั้งที่ติดตั้งชุดระบายความร้อนตัวใหม่
ไม่ว่าคุณจะเพิ่งซื้อของใหม่มาเปลี่ยนแทนตัวเก่าหรือซื้อของใหม่ซิงมาก็ตาม สิ่งคุณควรทำก็คือการทาซิลิโคนหรือ Thermal Paste ใหม่ทุกครั้งที่มีการติดตั้งชุดระบายความร้อนตัวใหม่เข้าไป และควรอย่างมากที่ต้องเช็ดซิลิโคนเก่าออกไปให้หมดก่อนด้วย ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาเรื่องของหน้าสัมผัสที่มีซิลิโคนเก่า ๆ แห้ง ๆ ติดอยู่แล้วทำให้ความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็น เช็ดหน้าสัมผัสของ CPU ให้หมด แล้วทาซิลิโคนลงไปใหม่ แล้วก็อย่าลืมลอกเอาพลาสติกที่หุ้มอยู่ออกไปก่อนด้วยล่ะ
ทั้งหมดนี้คือเรื่องควรระลึกเอาไว้สำหรับการเลือกซื้อชุดระบายความร้อน ท้ายนี้ขอให้ทุกคนได้เจอได้ใช้ของดีมีคุณภาพ เพราะนี่คือของที่ควรใส่ใจสำหรับคอมพิวเตอร์แสนรักที่ราคาแพงขึ้นทุกวัน อย่าใส่งบลงไปกับ CPU แรง ๆ การ์ดจอสุดโหดจนละเลยความร้อนไป เพราะพังขึ้นมาเพราะความร้อนไม่ใช่เรื่องที่สนุกเท่าไหร่ ลงทุนเพื่อความแรงได้ ก็อย่าลืมลงทุนด้านการระบายความร้อนด้วยเป็นการดีนะครับ!