เรียกเสียงฮือฮามาตั้งแต่ที่ปล่อยตัวอย่างออกมาแล้ว กับหนุ่มพลังปี๊บ City Hunter (ซิตี้ฮันเตอร์) ที่ฉายลงบน Netflix เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้แฟน ๆ หลายคนที่เคยอ่านเคยรู้จักมาตั้งช่วงปลายยุค 80 จนถึง 90 ต่างรู้จักมังงะอนิเมะเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะในยุคสมัยนั้นไม่มีใครไม่รู้จักมือปืนรับจากฉายา XYZ ซาเอบะ เรียว จนทำให้ตัวมังงะอนิเมะถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 3 ครั้งใน 3 ประเทศ ที่ถ้านับครั้งล่าสุดที่ ซิตี้ฮันเตอร์ กลับมาบ้านเกิดตัวเองเสียที ก็นับเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่มังงะอนิเมะเรื่องนี้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ วันนี้เรามาย้อนดูเรื่องราวของภาพยนตร์ซิตี้ฮันเตอร์ทั้ง 4 เวอร์ชันกันว่าจะสนุกเหมือนและต่างกับต้นฉบับขนาดไหนมาดูไปพร้อมกันเลย
City Hunter ใหญ่ไม่ใหญ่ข้าก็ใหญ่ (1993)
เริ่มจากภาพยนตร์ ซิตี้ฮันเตอร์ ฉบับแรกที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงครั้งแรกในปี 1993 นำแสดงโดยนักแสดงชื่อดังในยุคนั้นอย่าง เฉินหลง หรือ แจ็กกี ชาน มารับบท ซาเอบะ เรียว ส่วนนางเอกของเรื่องก็ได้สาวสวยซุปตาในยุคนั้นอย่าง หวัง จู่เสียน ก็มารับบท คาโอริ โดยเรื่องราวในฉบับฮ่องกงนี้จะบอกเล่าเรื่องราวถึง เรียว และ คาโอริ ที่ตามหาลูกสาว CEO ของหนังสือพิมพ์ชื่อดังที่หนีมาฮ่องกงชื่อ อิมามูระ เซย์โกะ โดยที่เรียวนั้นสนใจแต่งานจนไม่สนใจคาโอริเลย (ในฉบับนี้เรียวกับคาโอริชอบกันแล้ว) ทางคาโอริที่งอนเรียวก็ไปเที่ยวเรือสำราญ จังหวะเดียวกับที่ เซย์โกะ ก็ขโมยบัตรเรือสำราญมาพอดี เลยทำให้บนเรือลำนั้นเกิดการก่อการร้ายขึ้น ทางเรียวเลยต้องช่วยเหลือทั้งคนรักและลูกค้าให้ปลอดภัย
จุดเด่นจุดขายของซิตี้ฮันเตอร์ภาคนี้คือฉากแอ็กชันของเฉินหลง ที่ทำออกมาได้ตามมาตรฐานของลุงแกในยุคนั้น ที่ออกไปทางบู๊ตลกเฮฮาพร้อมเสียงพากย์พันธมิตรที่สร้างสีสันให้กับเรื่องราวเป็นอย่างมาก ส่วนเนื้อหาของความเป็นซิตี้ฮันเตอร์นั้น ก็เลยบอกเลยว่าแทบไม่มีเลย จะมีก็แต่ชุดที่เฉินหลงใส่ที่ดูคล้ายในมังงะอนิเมะ กับฉากค้อนยักษ์ที่ใส่ลงมาเพื่อบอกว่านี่คือซิตี้ฮันเตอร์นะ นอกนั้นก็มีแค่ชื่อเรื่องกับชื่อตัวละครที่เหมือนเท่านั้น
แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นจุดขายที่หลายคนชื่นชอบซิตี้ฮันเตอร์ฉบับนี้จริง ๆ ก็คือช่วงท้ายของเรื่อง ที่เรียวของเราจะต้องไปสู้กับตัวร้ายในโซนเกมตู้ จนร่างของทั้งคู่ถูกไฟดูดและแปลงร่างเป็นตัวละครในเกม Street Fighter 2 (ใช่ครับคุณอ่านไม่ผิดและเรามารูปเป็นหลักฐาน) ซึ่งนั่นคือความดีงามที่สุดของเรื่องนี้ที่มีมาให้เรา ส่วนคนที่จะไปหาดูก็ทำใจไว้ก่อนนะว่านี่คือหนังของเฉินหลงไม่ใช่ซิตี้ฮันเตอร์ ถ้าคิดแบบนั้นคุณจะดูเรื่องนี้สนุกขึ้นแน่นอน
City Hunter (2011)
กระโดดมาที่ปี 2011 ทางฝั่งเกาหลีก็ซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นภาพยนตร์กับเขาบ้างในชื่อเดียวกันอย่าง City Hunter ละครโทรทัศน์แนวแอ็คชันตลก นำแสดงโดย อี มิน-โฮ, พัก มิน-ย็อง, อี จุน-ฮย็อก และ อี กวาง-ซู โดยในเรื่องจะไม่ใช้ชื่อตามต้นฉบับอย่าง ซาเอบะ เรียว แต่จะใช้ชื่อเกาหลีว่า อี ยุน-ซ็อง ส่วน คาโอริ ก็เปลี่ยนเป็น คิม นานา กับเรื่องราวของหนุ่มจอมทะเล้นอดีตซีไอเอที่ผันตัวมาเป็นนักสืบ ที่ต้องร่วมงานกับ คิม นานา หญิงสาวที่ตนเองชอบแต่ไม่กล้าจีบ ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ทะลึ่งทะเล้นมากมายในการทำงานร่วมกัน เรื่องราวของเสือผู้หญิงที่พอเจอคนที่ชอบจริง ๆ ก็ไม่กล้าจีบ จนเกิดเป็นเรื่องราวกุ๊กกิ๊กตามฉบับเกาหลี ที่มาพร้อมฉากแอ็กชันให้พอมีกลิ่นแบบในการ์ตูน
โดยตัวภาพยนตร์ซีรีส์นี้แทบไม่มีกลิ่นอายความเป็น ซิตี้ฮันเตอร์ เลย ทั้งบทบาทเนื้อหาเรื่องราวที่เอามาขยายความจนเป็นแบบของตัวเอง ที่ให้ความสำคัญกับอดีตของตัว อี ยุน-ซ็อง หรือ ซาเอบะ เรียว ในเรื่อง ซึ่งในฉบับมังงะอนิเมะที่เป็นต้นฉบับจริง ๆ แทบไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้เลย ตัวหนังพยายามสร้างความตลกด้วยการใส่ความเจ้าชู้เสื้อผู้หญิงลงไปให้เหมือนกับต้นฉบับ แต่ดูยังไงมันก็ขัดตามกับภาพพระเอเกาหลีที่ต้องดูเท่ดูหล่อและช่วยเหลือสาว ๆ ที่ถ้าไม่บอกว่านี่คือซีรีส์ที่สร้างจากมังงะอนิเมะในชื่อซิตี้ฮันเตอร์ เราก็คิดว่านี่คือซีรีส์แอ็กชันเกาหลีทั่วไป ใครที่ชอบดูซีรีส์รักกุ๊กกิ๊กแอ็คชันสนุก ๆ ก็ไปหามาดูได้มีพากย์ไทยด้วย
City Hunter ซิตี้ฮันเตอร์ สายลับ คาสโนเวอร์ (2018)
นี่ซิซิตี้ฮันเตอร์ของจริงที่เราตามหา กับฉบับภาพยนตร์ที่ทางฝรั่งเศสซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นฉบับคนแสดง ในชื่อ Nicky Larson et le parfum de Cupidon หรือชื่อไทยน่ารัก ๆ อย่าง ซิตี้ฮันเตอร์ สายลับ คาสโนเวอร์ ตัวภาพยนตร์ฉายในปี 2018 นำแสดงโดย Philippe Lacheau, Élodie Fontan, Tarek Boudali และ Julien Arruti โดยตัวละคร เรียว กับ คาโอริ ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Nicky Larson กับ Laura Marconi เพื่อให้เหมาะสมกับประเทศตัวเอง เรื่องราวกล่าวถึง นิคกี้ ลาร์สัน นักสืบเอกชนที่ไม่ธรรมดาเพราะเขาบ้ากามแบบสุด ๆ วันหนึ่งลูกค้าของเขาจ้างปกป้อง น้ำหอมกามเทพ ซึ่งเป็นน้ำหอมที่ทำให้ใครก็ตามที่ดมน้ำหอมนี้หลงคนที่ใช้แบบหัวปักหัวปำ การตามน้ำหอมกับความเฮฮาและมุก 18+ จึงเริ่มขึ้น
ความดีงามของซิตี้ฮันเตอร์ฉบับนี้คือความตลก ที่ผสมกับฉากแอ็กชันที่ทำออกมาได้ดีดูสนุกไปได้เรื่อย ๆ และมีกลิ่นอายความเป็นซิตี้ฮันเตอร์โชยมาเป็นหย่อม ๆ แต่ดู ๆ ไปก็แอบขัดใจที่เห็นซาเอบะเราถูกเปลี่ยนชื่อเป็น นิคกี้ แต่เสื้อผ้าหน้าผมและความลามกแบบจัดหนักจัดเต็มถือว่าสอบผ่าน เมื่อเทียบกับ 2 ฉบับก่อนหน้านี้ที่เหมือนฝืนใส่ความลามกลงไป แต่ของนิคกี้คนนี้คือลามกธรรมชาติดูและดูเข้ากันแบบสุด ๆ และหนึ่งในความดีงามของเรื่องนี้คือเสียงพากย์ไทย ที่ได้น้าต๋อยมาช่วยเพิ่มความเฮฮา ที่ก็โอเคไม่ติดขัดแต่ถ้าถามว่ามันคือ ซิตี้ฮันเตอร์ ไหมก็บอกว่าแค่ตัวละครที่เหมือน นอกนั้นก็แทบไม่เป็นซิตี้ฮันเตอร์เลย
City Hunter (2024)
มาถึงฉบับล่าสุดในปี 2024 หลังจากที่ชื่อ ซิตี้ฮันเตอร์ ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองมานาน คราวนี้ก็ได้กลับมาบ้านเกิดตัวเองเสียทีในชื่อ City Hunter ชื่อเดียวกับในมังงะอนิเมะ โดยมี เรียวเฮย์ ซูซุกิ มารับบท ซาเอบะเรียว มิซาโตะ โมริตะ มารับบท คาโอริ กับเรื่องราวที่นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการรู้จักกันของเรียวและคาโอริผ่านทางพี่ชายของเธออย่าง มาคิมูระ ที่เริ่มจากการตามหาเด็กสาวที่หายตัวไป จนบาปลายไปถึงการสร้างยากระตุ้นตัวใหม่ที่เพิ่มพลังให้คน และเด็กสาวคนนี้คือกุญแจสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งมันเกี่ยวกับอดีตของคาโอริด้วย นั่นคือเรื่องราวพลังปี๊บของซิตี้ฮันเตอร์ฉบับนี้
ด้วยความที่ตัวเรื่องของซิตี้ฮันเตอร์ต้นฉบับมันอยู่ในประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความ แค่มีการปูเรื่องราวแนะนำตัวละครนิดหน่อยว่าใครเป็นใคร ก่อนจะจัดหนักจัดเต็มเรื่องราวที่เน้นฉากแอ็กชันยิงปืนเป็นหลัก กับเนื้อหาความลามกแบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่นที่ทำออกมาได้ลงตัว แต่เมื่อเทียบความหื่นแล้วดูทางพี่นิคกี้เราจะสุดกว่า แต่ทางเรียวฉบับนี้ก็ลามกในแบบของญี่ปุ่นเขาละ ส่วนจุดเด่นจุดขายของเรื่องนี้คือฉากแอ็กชันที่ทำออกมาได้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะตอนยิงปืนที่บอกเลยว่าโคตรเท่ ส่วนตัวละครคนอื่น ๆ อย่างคาโอริก็เคมีเข้ากัยกับพี่เรียวแบบสุด ๆ จะเสียตรงที่เนื้อเรื่องมันไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ แต่เมื่อเทียบกับ 3 เรื่องที่ผ่านมา ซิตี้ฮันเตอร์ภาคนี้ดูจะมีกลิ่นอายตรงตามในมังงะอนิเมะมากที่สุด
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการรวมเรื่องราวของภาพยนตร์และซีรีส์ ซิตี้ฮันเตอร์ ที่ถูกสร้างออกมาในฉบับคนแสดง ใครสนใจเรื่องไหนก็ลองไปหามาดูกันได้ ทุกแบบมีทั้งพากย์ไทยและเสียงต้นฉบับ ที่ตอนนี้เจ้าของลิขสิทธิ์ทั้ง 3 เรื่องก็เอากลับมาให้เราได้ดูแล้ว และถ้าจะให้ดีกว่านี้ก็ไปหาฉบับมังงะหรืออนิเมะมาอ่านมาดูแล้วคุณจะรู้เลยว่าทั้ง 3 แบบนี้เรื่องไหนมีความเป็น ซิตี้ฮันเตอร์ มากที่สุด