คุณเคยสงสัยกันบ้างไหมว่ามังงะที่เราอ่านหนึ่งเรื่องไม่ซิหนึ่งตอนที่เราอ่านอยู่นี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง นอกจากการนั่งหลังขดหลังแข็งของอาจารย์นักเขียน ที่ต้องอดหลับอดนอนวาดเพื่อส่งต้นฉบับให้ทัน ซึ่งตรงนั้นคือขั้นตอนสุดท้ายของผลงานที่จะส่งถึงมือผู้อ่านอย่างเรา เพราะก่อนที่อาจารย์นักเขียนเหล่านี้จะเริ่มลงมือวาดเป็นลายเส้นให้เราได้อ่าน มันต้องผ่านกระบวนการคิดออกแบบสร้างเนื้อหา กับทางกองบรรณาธิการมังงะเสียก่อนจึงจะลงมือเขียนได้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่หลายคนไม่รู้มาก่อน จึงมีสารคดีตามติดชีวิตกองบรรณาธิการมังงะ Shogakukan ออกมาให้เราได้ดู วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของการสร้างมังงะคร่าว ๆ ที่เกี่ยวกับกองบรรณาธิการมาให้อ่านกัน
จุดเริ่มต้นของนักเขียนมังงะญี่ปุ่นที่หลายคนไม่ทราบก็คือ ที่ญี่ปุ่นจะเปิดกว้างสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ที่สามารถติดต่อกับสำนักพิมพ์ ในการนัดคุยกับทางกองบรรณาธิการเพื่อให้ดูผลงานมังงะที่ตนเองเขียน ซึ่งจะเป็นโต๊ะชั้นล่างที่กองบรรณาธิการกับนักเขียนจะนั่งคุยกัน เพื่อติชมเนื้อหาว่ามันดีหรือไม่โอเครึเปล่า ซึ่งทางกองบรรณาธิการเห็นแววก็จะให้นักเขียนคนนั้น ๆ ไปเขียนเรื่องราวมาใหม่เพื่อให้เขาดูเรื่อย ๆ หรือถ้าดูแล้วไม่รุ่งไปไม่รอดก็จะตัดหางปล่อยวัดเลย นั่นคือหนึ่งในเส้นทางที่จะเป็นนักวาดมังงะญี่ปุ่นเจอ
แต่ก็ยังมีอีกวิธีนั่นคือการส่งเข้าประกวดตามฝานต่าง ๆ ที่สำนักพิมพ์จัด ขึ้นที่ตรงนี้จะดีกว่าตรงที่ไม่ต้องไปนั่งกดดันต่อหน้ากองบรรณาธิการ เพราะถ้างานเราห่วยก็จะโดนเทผ่านทางจดหมาย แต่ถ้างานไหนโอเคพอมีแววแต่ไม่ติดรางวัลใด ๆ ก็อาจจะได้รับการติดต่อกลับจากกองบรรณาธิการก็ได้ นั่นคือหนทางของการเป็นนักเขียนหลัก ๆ ของญี่ปุ่น หรือจะไปสมัครเป็นผู้ช่วยนักเขียนเพื่อเพิ่มประสบการณ์ ซึ่งอาจารย์นักเขียนหลายคนก็มาจากตรงจุดนี้ ซึ่งทางอาจารย์ อิซายามะ ฮาจิเมะ ก็เคยเป็นหนึ่งในคนที่ถูกสำนักพิมพ์ใหญ่เทงานมาก่อน สมัยที่ไปเสนอเรื่อง ผ่าพิภพไททัน (Attack On Titan) โดยทางกองบรรณาธิการบอกว่าลายเส้นดูไม่รู้เรื่องและสเกลเนื้อใหญ่โตเกินไป สรุปสั้น ๆ คือไม่ผ่านตั้งแต่เสนอครั้งแรก จนอาจารย์ไปเสนออีกที่จนโด่งดังอย่างที่เราเห็น (ใครอ่าน ผ่าภิภพไททันเล่ม 1 แล้วไม่งงหน้าตัวละครยกมือขึ้น)
หลังจากที่ได้รับการยอมรับจากกองบรรณาธิการแล้ว คราวนี้ก็มาถึงการแต่งเนื้อเรื่อง ที่หลายครั้งมังงะดัง ๆ ก็มาจากการเสนอแนะของกองบรรณาธิการ อย่างซีรีส์ Dragon Ball ก็ได้กองบรรณาธิการเสนอให้อาจารย์ โทริยามะ อากิระ วาดมังงะแนวกังฟูออกมา หรือผู้วาด โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ อาจารย์ อารากิ ฮิโรฮิโกะ ก็ได้ไอเดียการใช้แสตด์มาจากกองบรรณาธิการ (อาจารย์เคยเขียนบอกในหนังสือ) จนเมื่อโอเคแล้วก็ไปเสนอที่ประชุมกองบรรณาธิการอีกที ซึ่งโอกาสผ่านจุดนี้ก็ยากมาก ๆ ที่อาจจะต้องเขียนเรื่องเดิมเปลี่ยนแนวทาง หรือเขียนเรื่องใหม่เรื่อย ๆ จนกว่าจะผ่านการประชุมกองบรรณาธิการจะให้ผ่าน
เพราะการจะเอาเรื่องใหม่มาลงได้ นั่นหมายถึงเรื่องเก่าที่อยู่ในนิตสารเรื่องหนึ่งต้องหายไป นักเขียนที่เมื่อผ่านจนได้รับการตีพิมพ์ จึงต้องพยายามสร้างผลงานให้เป็นที่นิยม เพราะในนิตยสารจะมีการส่งแบบสอบถามมังงะที่ชอบทุกอาทิตย์ ใครอันดับท้าย ๆ ติด ๆ กันก็เตรียมตัวไปเขียนเรื่องใหม่นั่นคือความโหดร้ายของที่นักเขียนมังงะต้องเจอ โดยมีกองบรรณาธิการเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่กองบรรณาธิการ 1 คนอาจจะดูแลนักเขียนเป็นสิบ ๆ คน งานกองบรรณาธิการจึงไม่ใช่ง่าย ๆ และต้องมีประสบการณ์ในการดูอ่านเนื้อเรื่องมังงะเยอะ ๆ จนสามารถให้คำปรึกษานักเขียนได้ ซึ่งสารคดีนี้จะบอกเราทุกอย่างให้เราเห็นมุมมองอีกด้านที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
ที่กล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้เป็นแค่บางส่วน (ฉบับย่อนย่อ) เท่านั้น เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่เกี่ยวกับเบื้องหลังกองบรรณาธิการมังงะ เพราะไม่ใช่มังงะทุกเรื่องจะดังและกองบรรณาธิการทุกคนจะเก่งมองขาดเรื่องการ์ตูน เพราะในทุก ๆ ปีมีนักเขียนหน้าใหม่จำนวนมากเกิดขึ้น และมีนักเขียนที่เลิกความฝันนี้แล้วทิ้งไปก็มา ใครสนใจอยากรู้เบื้องหลังมากกว่าก็ลองไปอ่านมังงะ Bakuman วันซนคนการ์ตูน ดู อาจจะทำให้เรารู้ว่ากองบรรณาธิการเขาทำอะไรและนักเขียนต้องเจอกกับอะไรบ้าง แล้วคุณจะรู้ว่าการวาดการ์ตูนที่เราอ่านสนุก มันคือนรกของนักเขียนดี ๆ นั่นเอง