
เมื่อพูดถึงอาชีพนักเขียนมังงะสำหรับคนญี่ปุ่น และหลายคนในบ้านเราคงมีความฝันอยากทำอาชีพนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วการเป็นนักเขียนมังงะมันไม่ได้สนุกหรือง่ายอย่างที่คิด เพราะถ้าคุณไม่ได้เป็นนักเขียนชื่อดังที่มีผลงานสุดปัง คุณก็ต้องดิ้นรนหาสำนักพิมพ์เพื่อให้เขายอมรับผลงานของคุณ พอได้คุณก็ต้องต่อสู้เพื่อให้อยู่อันดับต้น ๆ ในแต่ละสัปดาห์ในการจัดอันดับความนิยม ที่ถ้าอยู่ท้ายก็จะโดนตัดจบไปเขียนเรื่องใหม่ หรือโดนไล่ไม่ให้เขียนต่อก็มี หรือถ้าได้รับความนิยมก็ต้องถูกกดดันจากคนอ่านการคิดเรื่อง และเส้นตายในการส่งงานแต่ละอาทิตย์ เรียกว่าเป็นงานที่หนักเลยทีเดียว และเมื่อนักเขียนมังงะจบผลงานตัวเองลงหลายคนก็เลือกจะเขียนเรื่องใหม่ต่อทันที และส่วนมากก็จะเขียนมังงะแนวที่ตนเองถนัดในเรื่องต่อไป แต่ก็มีอาจารย์นักเขียนบางคนที่ลองเขียนแนวใหม่ที่ต่างไปจากเดิมไปคนละแนว จนไม่คิดเลยว่าอาจารย์แกเขียนแบบนี้ได้ด้วย แถมเรื่องใหม่เหล่านั้นก็ดังอีกต่างหาก วันนี้เราเลยคัดนักเขียน 3 คนที่เปลี่ยนแนวตัวเองไปคนละขั้วมานำเสนอ จะมีใครบ้างนั้นมาดูไปพร้อมกันเลย

1. โอบะ สุงุมิ และ โอบาตะ ทาเคชิ ผู้วาด Death Note และ Bakuman

เริ่มต้นนักเขียนคนแรกที่มาแบบแพ็คคู่ เป็นนักเขียนและคนแต่งเรื่องที่เขาขากันอย่างดีอย่าง อาจารย์ โอบะ สุงุมิ ที่เป็นคนแต่งเรื่อง ส่วนอาจารย์ โอบาตะ ทาเคชิ เป็นคนวาดรูป ที่ทั้งสองคนจะแบ่งหน้าที่และมาประชุมกันเพื่อหาแนวทางในแต่ละตอนว่าจะเอาอย่างไร โดยผลงานที่สร้างชื่อให้ทั้งคู่ที่ดังเป็นพลุระเบิด ก็คือมังงะเรื่องเด็กนักเรียนสุดเบียวที่อยากเป็นพระเจ้ากับยมทูตและสมุดโน๊ตอย่าง Death Note โดยเรื่องราวคร่าว ๆ ของมังงะเรื่องนี้จะกล่าวถึงสมุดโน๊ตที่เขียนชื่อใครและวิธีตายคน ๆ นั้นจะตุยทันที แต่ถ้าไม่เขียนวิธีตายก็จะหัวใจวายใน 40 วินาที ซึ่งความสนุกมันอยู่ตรงที่พระเอก (รึเปล่า) ที่ต้องการใช้สมุดโน็ตฆ่าคนชั่วและเปลี่ยนโลกให้สงบสุข กับนักสืบที่จับคนร้ายที่ใช้สมุดโน็ตฆ่าคน เป็นการชิงไหวพริบกันของคนฉลาดสองคนที่สู้กันด้วยการวางแผนไปมา ที่อ่านแล้ววางไม่ลงเลยทีเดียว
พอจบ Death Note ทั้ง 2 ก็เริ่มเขียนเรื่องใหม่ในชื่อ Bakuman วันซนคนการ์ตูน ที่เปลี่ยนจากแนวใช้สมองสู้กันในโลกแฟนตาซี (มีสมุดโน๊ตเขียนชื่อคนตายจะเป็นโลกปกติหรอ) มาเป็นโลกแห่งความจริงที่ไม่มีอะไรแฟนตาซีเลย กับชีวิตของสองหนุ่มที่ฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ที่คนหนึ่งคิดเรื่องเก่งแต่วาดรูปห่วย อีกคนวาดรูปสวยแต่แต่งเรื่องห่วย โดยมีความตั้งใจว่าถ้ามังงะตัวเองได้สร้างเป็นอนิเมะจะขอสาวที่ชอบแต่งงาน (ซึ่งสาวก็ตอบรับด้วย) โดยในเรื่องเป็นการบอกเบื้องหลังการเขียนมังงะว่าต้องทำอย่างไรกว่าจะตีพิมพ์ กับเรื่องราวการต่อสู้ที่ต้องใช้สมองฝีมือในการต่อสู้กับกองบรรณาธิการ เพื่อลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ซึ่งต้องแข่งกับนักเขียนคนอื่นเพื่อแย่งความนิยม ซึ่งเป็นคนละแนวกับ Death Note ไปคนละขั้วเลยทีเดียว

2. มูระตะ ยูสึเกะ ผู้วาด Eyeshield 21 และ One-Punch Man

คราวนี้มาดูมือปืนรับจ้างแห่งวงการมังงะกันบ้าง กับอาจารย์ มูระตะ ยูสึเกะ ผู้วาดมังงะอเมริกันฟุตบอลสุดสนุกอย่าง Eyeshield 21 และ ฮีโรโล้นซ่าหมัดเดียวจอดอย่าง One-Punch Man ซึ่งถ้าคุณจะบอกว่าการที่อาจารย์ มูระตะ แกเป็นนักเขียนไม่ใช่คนแต่งเรื่อง การที่แกจะเปลี่ยนแนวการเขียนไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าคุณเป็นนักวาดมังงะและมีชื่อเสียงจากการ์ตูนกีฬา คุณจะอยากเปลี่ยนแนวตัวเองมาเขียนแนวแอ็กชันฮีโรต่อสู้ที่มีอยู่ดาดดื่มในตลาดไหมละ แถมการเขียนแนวกีฬาก็ต่างกับแนวต่อสู้ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ คนที่กล้าเปลี่ยนแนวตัวเองแบบสิ้นเชิงแบบนี้หาได้ไม่ง่าย
โดยเรื่องราวของ Eyeshield 21 จะกล่าวถึงชมรมอเมริกันฟุตบอลที่มีสมาชิกเพียง 2 คน (พอแข่งทีก็ไปยืมตัวคนชมรมอื่นมาเล่น) กับเรื่องราวของเด็กชายที่วิ่งเร็วมาก ๆ จนความเร็วนี้ไปถูกตาต้องใจปีศาจแห่งชมรมอเมริกันฟุตบอล พี่แกเลยจับมาลงแข่งและปกปิดหน้าตาเพื่อกันคนนอกรู้ ให้ดูแปลกและยิ่งใหญ่ข่มขวัญศัตรู (เปล่าหรอกพระเอกแหย่เกินจนเอาไปอวดใครไม่ได้) ในเรื่องก็จะเป็นการแข่งจากระดับล่าง ๆ ไปจนถึงระดับประเทศผ่านการเติบโตของพระเอกในเรื่อง ซึ่งก็เป็นมุกพื้น ๆ ของเรื่องแนวนี้ แต่ในเรื่องกลับอ่านสนุกมาก ๆ และพอคุณอ่านมังงะเรื่องนี้จบคุณจะดูอเมริกันฟุตบอลรู้เรื่องทันที
ต่อมาคือ One-Punch Man มังงะแนวฮีโรที่เป็นโลกแฟนตาซี ซึ่งมีสัตว์ประหลาดอยู่บนโลกมนุษย์เลยจัดตั้งองค์กรฮีโรขึ้นมา ผ่านเรื่องราวของชายตกงานหัวโล้นที่เบียวเป็นฮีโร ซึ่งพี่แกก็เก่งจริงขนาดต่อยศัตรูหมัดเดียวตัวแตก โดยในเรื่องจะบอกเล่าผ่านฮีโรคนอื่น ๆ ที่มาต่อสู้กับศัตรูที่ออกมาทำลายบ้านเมือง ก่อนที่พี่โล้นจะต่อยทีเดียวตุยปิดท้าย (ก่อนหน้านี้พี่แกหลงทางไม่ก็ทำอย่างอื่นอยู่เลยมาช้า) โดยก่อนที่พี่โล้นจะมาเราก็จะได้เห็นการต่อสู้สุดมันของฮีโร ที่เปลี่ยนแนวจากลายเส้นมังงะกีฬามาเป็นมังงะต่อสู้ที่สุดสนุกได้ฝีมือพี่แกไม่ใช่เล่น ๆ จริง ๆ

3. อิโต้ จุนจิ ผู้วาด Ito Junji Maniakku กับ Junji Ito's Cat Diary Yon & Mu

จากทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีใครที่เปลี่ยนแนวเขียนไปได้เท่ากับอาจารย์ อิโต้ จุนจิ ผู้วาด Ito Junji Maniakku คลังสยอง อีกแล้ว ซึ่งสำหรับคนที่ไม่รู้จักตัวอาจารย์ อิโต้ จุนจิ คือนักเขียนมังงะแนวสยองขวัญระดับตำนาน ที่คนอ่านมังงะทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี โดยเรื่องสยองที่อาจารย์เขียนทั้งหมดนั้นจะเป็นแนวเรื่องสั้นจบในตัวของมันเองไม่ว่าจะเป็น โทมิเอะ สาวหอยทาก ลูกโป่งหัวมนุษย์ ก้นหอยมรณะ และอีกมากมายที่หลายคนน่าจะผ่านตากับลายเส้นและเรื่องราวของแกมาบ้าง ที่จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังได้เห็นเรื่องสยองขวัญใหม่ ๆ ของแกออกมาอยู่เสมอ ที่ถ้าใครไม่เคยอ่านลองไปหามาอ่านดูซักเล่มแล้วคุณจะชอบมังงะซีรีส์นี้
และพออาจารย์จุนจิแกเบื่อจะเขียนเรื่องผี อาจารย์แกเลยเปลี่ยนอารมณ์มาเขียนแนวชีวิตประจำวันน่ารัก ๆ ของแกกับแมวที่ภรรยาเลี้ยงเอาไว้บ้าง ในชื่อ Junji Ito's Cat Diary Yon & Mu บันทึกน้องเหมียวของอิโต จุนจิ ที่ก็เป็นเรื่องสั้นเหมือนเดิมแต่คราวนี้จะไม่มีผี (ย้ำว่าไม่มีผี) แต่ด้วยลายเส้นของอาจารย์แกที่เป็นเอกลักษณ์ในทางหลอน ๆ มังงะน่ารัก ๆ แนวชีวิตประจำวันของอาจารย์แก (แมวกับเรื่องราวในมังงะเรื่องนี้มาจากเรื่องจริงของแกทั้งหมด) เลยเป็นมังงะหลอนสยองขวัญไปเฉยเลย (ย้ำว่าในเรื่องนี้ไม่มีผีจริง ๆ ไม่ได้มุก) ที่พอดูลายเส้นของอาจารย์แล้วก็แอบขำและเห็นใจแกไม่ได้ ที่พอเปลี่ยนแนวมาเขียนอะไรที่มันดูปกติดันน่ากลัวพอ ๆ กับเรื่องผีที่แกเขียนเฉยเลย

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 3 นักเขียนมังงะที่พอขึ้นเรื่องใหม่ก็เปลี่ยนแนวเรื่องของตัวเองไปเป็นคนละเรื่อง โดยเฉพาะคนสุดท้ายที่อาจารย์แกคงจะสลัดภาพการเขียนมังงะสยองขวัญไม่ออกแล้วละ ขนาดเรื่องสั้นคลังสยองของแกบางตอนที่ไม่มีผียังน่ากลัวยิ่งกว่าเห็นผีอีก (แนะนำ ตอนคนขี้แกล้ง ตอนนี้ไม่มีแต่น่ากลัวกว่ามีผีอีก) ซึ่งเอาจริง ๆ ก็มีนักเขียนอีกหลายคนที่เปลี่ยนแนวเขียนไปคนละแบบ ใครสนใจก็ไปอ่านทีลิงค์ต้นทางข้างล่างได้เลยเราแปะไว้แล้ว และถ้าใครสนใจอยากอ่านมังงะทั้ง 6 เรื่องนี้ ทุกเรื่องก็มีพิมพ์ขายในบ้านเราทั้งแบบ E-Book และแบบหนังสือเล่ม ลองไปหามาอ่านดูบอกเลยว่าสนุกทุกเรื่อง และช่วยกันสนับสนุนของถูกลิขสิทธิ์กันด้วย เราจะได้มีมังงะดี ๆ มาอ่านเรื่อย ๆ ฝากทุกคนเอาไว้ด้วย