
วันที่ 19 กรกฎาคมถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของซีรีส์ Final Fantasy เลยก็ว่าได้ เพราะวันนี้เมื่อ 33 ปีที่แล้วเกม Final Fantasy lV ได้วางจำหน่ายครั้งแรกบนเครื่อง Super Famicom (ใครสนใจไปอ่านบทความข้างล่างได้เลย) และนอกจาก Final Fantasy lV แล้ววันนี้ยังเป็นวันเดียวกับที่เกม Final Fantasy X วางจำหน่ายเช่นกัน โดยต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2001 หรือเมื่อ 23 ปีที่แล้วที่แฟน ๆ เกม Final Fantasy ทุกคนต่างตาลุกวาวกับการเปิดภาคใหม่บนเครื่องเกมตัวใหม่อย่าง Playstation 2 ที่แน่นอนว่าบารมีจากภาค 7 ถึง 9 บน Playstation 1 ที่ทำเอาไว้จึงไม่แปลกที่หลายคนจะคาดหวังกับภาค 10 นี้ ที่พอเกมออกมาก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง เพราะทั้งกราฟิกระบบการเล่นเนื้อเรื่องตัวละครเรียกว่าสมบูรณ์แบบอย่างสุด ๆ วันนี้เรามาย้อนอดีตดูเกมนี้ไปพร้อม ๆ กันว่ามันดีงามและมีจุดแย่ขนาดไหนบ้าง มาดูไปพร้อมกันเลย
เริ่มจากเนื้อเรื่องที่จะกล่าวถึงโลกสมมติที่ชื่อว่า Spira โดยบนโลกนี้มีเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ มากมายอาศัยอยู่ แต่ส่วนมากจะเป็นมนุษย์ ผ่านเรื่องราวของ ทีดัส (จริง ๆ ต้องเรียกว่า ไทดัส แต่เดี๋ยวคนอ่านไม่ชินเลยขอใช้ชื่อที่คนคุ้นตาแล้วกัน) นักกีฬาบลิตซ์บอลซึ่งเป็นกีฬาชนิดพิเศษที่มีแค่ในจักรวาลนี้ และในระหว่างที่กำลังแข่งเกมกำลังตึง ๆ จู่ ๆ ก็มีสัตว์ประหลาดยักษ์มาลำลายเมืองและดูดทีดัสไปต่างโลกด้วยพลังบางอย่าง เมื่อมาถึง Spira ทีดัสก็รู้ว่าที่นี่คืออนาคต 1000 ปีต่อมาโดยตัวที่ทำลายเมืองของเขาคือ ชิน สิ่งมีชีวิตชั่วร้ายขนาดใหญ่ ในเวลาต่อมาทีดัสได้รู้จักกับสาวน้อยรุ่นราวคราวเดียวกันที่ชื่อ ยูน่า (ความจริงต้องเรียก ยูนะ) ซึ่งเธอมีหน้าที่ไปรับพลังมนต์อสูรเพื่อกำจัดชิน ทีดัสจึงออกเดินทางไปด้วย พวกเขาจะกำจัดชินได้ไหมเรื่องราวจะเป็นอย่างไรก็ไปเล่นเอา บอกเลยว่าเนื้อเรื่องดีงามสุด ๆ

นอกจากเนื้อเรื่องที่เป็นจุดขายกับกราฟิกสวยงามบาดตาที่ไม่ได้สวยแค่คัตซีน แต่ระบบการเล่นก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน โดยในภาคนี้จะใช้ระบบการต่อสู้แบบใหม่ที่ชื่อว่า Conditional Turn-Based Battle (CTB) ที่เราสามารถกำหนดคำสั่งตัวละครได้จากการดูลำดับการโจมตีว่าใครจะได้สู้ก่อนหลัง โดยตัวเกมจะมีกราฟิกที่ด้านบนขวาของหน้าจอ ที่แสดงรายละเอียดว่าใครจะได้รับเทิร์นต่อไป และการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อลำดับเทิร์นของตัวละครที่จะเปลี่ยนไปมาให้เราดูอีกด้วย (ถ้าใครงงก็ดูที่รูปด้านล่างได้เลย) และเมื่อตัวเกมพัฒนาลงบนเครื่องใหม่ ทีมงานเลยใส่สิ่งใหม่ ๆ ลงไปได้อีกหลายอย่างที่ภาคก่อนอยากให้มีแต่ทำไม่ได้ อย่างการเปลี่ยนตัวละครระหว่างต่อสู้ กับเสียงพากย์ที่พากย์นี้ทำได้แล้ว
และที่เป็นจุดเด่นจุดขายของเกมภาคนี้จริง ๆ ก็คือระบบมนต์อสูร ที่จะมีแค่ยูนะคนเดียวเท่านั้นที่สามารถอัญเชิญมนต์อสูรออกมาต่อสู้ได้ โดยในภาคนี้มนต์อสูรจะไม่ได้มาแค่ปล่อยพลังแล้วไปแบบภาคก่อน แต่คราวนี้เหล่ามนต์อสูนจะช่วยเราสู้ได้ประหนึ่งว่าเป็นเพื่อนร่วมทีมอีกคน แต่ตอนที่เราเรียกมนต์อสูรออกมาจะมีแค่ยูนะกับอสูรเท่านั้น ซึ่งเมื่ออสูรคือตัวละครที่เราใช้งานได้มันก็สามารถตุยได้เช่นกัน ที่พอเราไปฉากหลัง ๆ จะยิ่งมีมนต์อสูรแปลก ๆ เพิ่มเข้ามาทำให้การต่อสู้สนุกขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า นี่ยังไม่นับมนต์อสูรที่ถูกซ่อนตามที่ต่าง ๆ ที่เราต้องสู้กับมันก่อนเพื่อให้อสูรยอมรับในตัวเรา ที่บอกเลยว่าตึงมือและสนุกสุด ๆ

จากข่อมูลบอกว่า Final Fantasy X พัฒนาในปี 1999 ด้วยต้นทุนประมาณ 4 พันล้านเยน โดยมีทีมงานกว่า 100 คนซึ่งส่วนใหญ่เคยทำงานในเกมก่อนหน้านี้ในซีรีส์นี้มาแล้ว ส่วนโปรดิวเซอร์เกมนี้ก็คือ คุณ ฮิโนบุ ซาคาคุจิ คนดีคนเดิม ซึ่งเขาได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ อย่างการเรนเดอร์ภาพผ่านการแสดงทางสีหน้าของตัวละคร ซึ่งทำได้โดยใช้เทคโนโลยีการจับภาพเคลื่อนไหวและแอนิเมชั่นโครงกระดูก โดยเทคโนโลยีนี้ทำให้แอนิเมเตอร์สามารถสร้างการเคลื่อนไหวของริมฝีปากที่สมจริงได้ ซึ่งทุกอย่างมันก็ดูโอเคหมดจะเสียอย่างเดียวคือตัวพระเอกที่ค่อนข้างงี่เง่าน่ารำคาน กับเสียงพากย์อังกฤษที่ไม่ค่อยโอเค และเนื้อเรื่องช่วงแรกที่เราได้อืดกว่าจะเข้าประเด็น แต่พอเรามองข้ามตรงนั้นไปมันคือความสนุกที่คุณต้องหามาเล่น
พอเล่น Final Fantasy X จบก็ไปต่อที่ Final Fantasy X-2 ต่อเลย เพราะตัวเกมได้ทิ้งปริศนาเอาไว้จนต้องมาไขปมในภาคที่ 2 ต่อให้จบ โดยในภาค X-2 นั้นจะเปลี่ยนรูปแบบระบบการเล่นไปเป็นคนละเกมเลยทีเดียว ส่วนใครที่สนใจอยากหาแผ่นเกม Final Fantasy X มาเก็บราคาตามท้องตลาดก็ถูกกว่าที่คิดมาก ๆ (บางที่ขายไม่ถึงร้อย) ส่วนใครที่อยากเล่นตัวเกมก็ลงมันแทบทุกเครื่องที่คิดออกยกเว้นบนมือถือ ลองไปหามาเล่นดูตัวเกมแม้จะเก่าถึง 23 ปีแต่ระบบต่าง ๆ ยังคงเล่นสนุกจนเราไม่อยากให้คุณพลาดของดีไป