เมื่อพูดถึงซีรีส์ Dragon Ball เราก็มักจะคิดถึงการต่อสู้สุดสนุกของเหล่านักรบ Z ที่จะได้เจอศัตรูต่าง ๆ ที่มาท้าทายให้ โกคู กับ เบจิต้า ได้สู้ ที่ถ้ามองในแง่ของตัวละคร ตัวโกคูกับเบจิต้าก็เป็นทั้งเพื่อนคู่แข่งและศัตรูที่อยากเอาชนะมาตั้งแต่อดีต ที่ไม่ว่าเบจิต้าจะแข็งแกร่งขนาดไหน หาวิธีเพิ่มพลังฝึกฝนจนแข็งแกร่งปานใด สุดท้ายเบจิต้าก็ยังคงแพ้โกคูอยู่หนึ่งก้าวเสมอ รวมถึง โกฮัง ที่แม้จะขาดการฝึกฝนทิ้งช่วงไปนานแต่เขากลับสามารถก้าวกระโดดแซงโกคูและเบจิต้าไปได้แทบจะทุกครั้ง โดยเรื่องนี้ทางอาจารย์ โทริยามะ อากิระ ผู้วาดซีรีส์ Dragon Ball ผู้ล่วงลับเคยออกมาบอกถึงเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว เรามาดูกันว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น
โดยเรื่องราวนี้มาจากบทสัมภาษณ์จาก Saikyo Jump เมื่อเดือนมกราคม 2018 ที่ทางอาจารย์โทริยามะได้พูดถึงกระบวนการของการเป็นซูเปอร์ไซย่า รวมถึงที่มาที่ไปของพลังของตัวละครทั้ง 3 ในเรื่อง โดยอาจารย์โทริยามะกล่าวว่า "เพื่อที่จะกลายเป็นซูเปอร์ไซย่า ร่างกายของคนเราจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า เซลล์ S ที่เมื่อเซลล์ S เหล่านี้มีปริมาณถึงระดับหนึ่ง พอมันถูกสิ่งกระตุ้นอย่างความโกรธเซลล์ S จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าซูเปอร์ไซย่า" อาจารย์โทริยามะยังกล่าวต่อไปว่า ไม่ใช่ว่าชาวไซย่าทุกคนจะมีเซลล์ S โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปริมาณที่จำเป็นในการกลายเป็นซูเปอร์ไซย่า
สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือคำอธิบายของอาจารย์โทริยามะเกี่ยวกับวิธีการฝึกฝนเซลล์ S อาจารย์โทริยามะกล่าวว่าจิตวิญญาณที่อ่อนโยนสามารถทำให้เซลล์ S ขยายพันธุ์ได้ แต่จิตวิญญาณที่อ่อนโยนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ มันยังต้องการพลังการต่อสู้และประสบการณ์การต่อสู้ในระดับหนึ่งด้วย เนื่องจากชาวไซย่าส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ก้าวร้าวและรุนแรงเช่นเดียวกับเบจิต้า เซลล์ S จึงหายากอย่างไม่น่าเชื่อ ส่งผลให้ซูเปอร์ไซย่ากลายเป็นเพียงตำนาน อย่างไรก็ตามโกคูเป็นตัวอย่างที่หายากของชาวไซย่าที่มีจิตวิญญาณที่อ่อนโยน แถมยังมีประสบการณ์การต่อสู้ที่ยอดเยี่ยม จึงทำให้เขามีปัจจัยที่สมบูรณ์แบบที่กระตุ้นความเป็นซูเปอร์ไซย่าออกมา
พอเอาสิ่งที่อาจารย์โทริยามะพูดขั้นต้นมาคิดตาม การที่โกคูสามารถปลดล็อกพลังใหม่ของซูเปอร์ไซย่าได้ตลอด (ไปถึงขั้น 3) เพราะร่างกายและอารมณ์ของโกคูสอดคล้องกับเงื่อนไขที่จำเป็นในการแปลงร่าง ในทางกลับกันเบจิต้านั้นขาดจิตวิญญาณความอ่อนโยน แม้ว่าเขาจะสงบและเอาใจใส่คนอื่นมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เขายังคงมีความอยากเอาชนะต่อสู้ความเป็นชาวไซย่าอยู่ และตราบใดที่ยังเป็นเช่นนี้ตัวเบจิต้าก็จะไม่มีทางตามโกคูทันได้อย่างสมบูรณ์ แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งตั้งแต่ที่เบจิต้าแต่งงานกับบลูม่า ตัวเบจิต้าก็มีจิตใจอ่อนโยนลง จนเขาสามารถไล่ตามโกคูไปได้เรื่อย ๆ นั่นก็พอจะทำให้เราเห็นแล้วว่าสิ่งที่อาจารย์โทริยามะพูดนั้นถูกต้อง
ในทางกลับกันตัวของโกฮังที่มักจะก้าวกระโดดแซงโกคูกับเบจิต้าเสมอ ทางอาจารย์โทริยาม่าก็บอกว่าเพราะตัวของโกฮังนั้นเป็นพวกรักสงบแต่ถึงเวลารบก็ไม่ขลาด ในตัวของโกฮังเลยมีเซลล์ S ในร่างที่มากกว่าโกคูและเบจิต้า ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการมีเชื้อสายชาวโลกที่ช่วยลดความป่าเถื่อนของชาวไซย่าลง จึงไม่แปลกที่พวก โกเท็น ทรั้งค์ จะเป็นซูเปอร์ไซย่าได้ตั้งแต่เด็ก ส่วนโกฮังที่รักสงบไม่ชอบการต่อสู้มากกว่าชาวไซย่าทั่วไป แถมโกฮังยังถูกฝึกและต่อสู้มาหลายต่อหลายครั้ง มันเลยครบเงื่อนไขในการพัฒนาที่ก้าวกระโดดในซูเปอร์ไซย่า 2 และ ร่างบีสต์
เช่นเดียวกับโบรลี่ในจักรวาลหลัก (จักรวาลในภาคเสริมไม่นับ) ที่สามารถแปลงร่างเป็นซูเปอร์ไซย่าในตำนานได้อย่างง่ายดายนั้น ก็เพราะตัวโบรลี่รักสงบมีจิตใจดีกว่าโกคูและโกฮังเสียอีก แต่ด้วยการที่เขาไม่เคยฝึกฝนและต่อสู้แบบเอาเป็นเอาตายมาเลย (หนีมาอยู่บนดาวสุดขอบจักรวาล) จึงทำให้โบรลี่ขาดสติควบคุมพลังตัวเองไม่อยู่ ที่ถ้าโบรลี่ถูกฝึกในระดับเดียวกับโกคูเบจิต้า ตัวโบรลี่สามารถแซงโกคูเบจิต้าและโกฮังไปได้แบบสบาย ๆ เพราะเซลล์ S ในตัวของเขาที่มีมากมายมหาศาลนั่นเอง ที่ถ้าเราบอกว่าโกคูกับโกฮังเป็นชาวไซย่าที่รักสงบเลยทำให้มีเซลล์ S ในร่างเยอะ ตัวโบรลี่ที่ไม่เคยคิดถึงการต่อสู้เลยก็เป็นซูเปอร์ไซย่าที่หายากยิ่งกว่า
พอมาคิดตามที่อาจารย์โทริยาม่าบอกเกี่ยวกับเซลล์ S ที่เป็นตัวกำหนดค่าพลังในร่างของชาวไซย่า เราก็พอจะเห็นภาพมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เรารู้มาว่ายิ่งชาวไซย่าใกล้ตาย พอรอดมาได้ชาวไซย่าจะแข็งแกร่งขึ้นแต่ถึงจะแข็งแกร่งขนาดไหนก็เป็นซูเปอร์ไซย่าไม่ได้ ซึ่งพอเรามาคิดดูตัวเบจิต้าที่เป็นซูเปอร์ไซย่าได้ก็หลังจากที่แต่งงานกับบลูม่า มันเลยสอดคล้องกันพอดี อาจารย์โทริยาม่าเขาเป็นอัจฉริยะจริง ๆ ที่คิดแบบนี้ออกมาได้ หรือแกเพิ่งจะคิดออกแล้วตีเนียลไป อันนี้ก็สุดแล้วแต่เราจะคิดก็แล้วกัน เพราะอาจารย์แกไม่อยู่บอกเราแล้ว แต่เอาเป็นว่าแนวคิดนี้มันสอดคล้องกันพอดีกับเนื้อเรื่อง อันนี้ก็ถือว่าโอเคแล้วคิดเท่านี้ก็พอ