เชื่อว่าเกมเมอร์หลายคนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ต่างก็ต้องมีเกมในดวงใจของตัวเองไม่หนึ่งหรือสองเกม และมันอาจจะไม่ใช่เกมที่ยอดเยี่ยมเล่นสนุก แต่มันอาจจะมีความทรงจำดี ๆ ว่าเราเคยเล่นเกมนี้กับเพื่อน ๆ หรือเคยผ่านเกมนี้ด้วยตัวเองหลังจากพ่ายแพ้มานาน เหมือนกับผู้เขียนที่ก็มีความทรงจำดี ๆ กับเกม Super Mario Bros. 3 ที่นั่งเล่นเกมนี้โดยมีอาม่านั่งเชียร์ลุ้นข้าง ๆ และโห่ร้องดีใจเมื่อเราเอาชนะ คูป้า ไปช่วยเจ้าหญิงได้สำเร็จ (ตอนเล่นใช่ขลุ่ยข้ามฉากมาด่านสุดท้ายเลย) นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าความทรงจำดี ๆ และเราก็เชื่อว่าทุกคนจะมีความทรงจำดี ๆ แบบนั้นจากในเกม Super Mario Bros. 3 เช่นกัน และวันที่ 23 ตุลาคม 1988 ก็ครบรอบ 36 ปีเกม Super Mario Bros. 3 วางจำหน่ายบนเครื่อง Famicom เรามาย้อนอดีตดูเรื่องราวของเกมนี้ไปพร้อม ๆ กันเลย
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเริ่มไม่นานหลังจากการเปิดตัว Super Mario Bros. 2 ของระบบดิสก์ Famicom ในปี 1986 โดยตัว Super Mario Bros. 3 ได้รับการพัฒนาโดย Nintendo Entertainment Analysis and Development ซึ่งเป็นทีมงานที่ประกอบด้วยผู้คนมากกว่าสิบคน เกมดังกล่าวใช้เวลามากกว่าสองปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ และใช้งบประมาณการพัฒนาเมื่อแปลงเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว มีมูลค่าประมาณ 800,000 ดอลลาร์ โดยมีคุณ มิยาโมโต้ ชิเงรุ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง เขาทำงานอย่างใกล้ชิดกับนักออกแบบและโปรแกรมเมอร์ ในขั้นตอนการสร้างตั้งแต่ขั้นแรกจนตอนสุดท้าย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ กับทีมพัฒนา ซึ่งถือว่าแนวคิดที่น่าสนใจและแปลกใหม่ เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเกมที่ประสบความสำเร็จเลยทีเดียว
ในตอนแรกทีมงานตั้งใจให้เกม Super Mario Bros. 3 นี้เล่นจากมุมมองแบบไอโซเมตริก (ภาพมีมุมเอียง 30 องศาทั้งสองข้างเท่ากัน และขนาดความยาวของภาพทุกด้านจะมีขนาดเท่า) แต่ผู้พัฒนาพบว่าการปรับมุมกล้องแบบนั้นจะทำให้การวางตำแหน่งการกระโดดทำได้ยากเกินไป ดังนั้นเกมจึงถูกเปลี่ยนเป็นมุมมองด้านข้างแบบ 2 มิติที่ใช้ในเกมก่อนหน้านี้ แต่องค์ประกอบไอโซเมตริกบางส่วนยังคงอยู่ เช่นพื้นลายตารางหมากรุกที่ปรากฏอยู่ในหน้าจอชื่อเกม และภาพพิกเซลทั้งหมดสำหรับเกมนี้ วาดโดยใช้คอมพิวเตอร์ธุรกิจ Fujitsu FM R-50 HD ในการสร้าง และใช้คอมพิวเตอร์เมนเฟรม HP 64000 พร้อมการ์ดโปรเซสเซอร์ 6502 ในการเขียนและทดสอบโค้ด
โดยหนึ่งในความดีงามของเกมภาคนี้คือเนื้อเรื่องของเกม ที่ถูกอธิบายไว้ในคู่มือเกม Mushroom World ที่กล่าวถึงการรุกรานโดย Koopalings ซึ่งเป็นลูกทั้งเจ็ดของราชามังกร คูป้า ที่หมายจะยึดครองอาณาจักรทั้งเจ็ด โดยขโมยไม้กายสิทธิ์ของเหล่ากษัตริย์ และใช้มันเพื่อแปลงร่างให้กลายเป็นสัตว์ต่าง ๆ เจ้าหญิง พีช จึงส่ง มาริโอ้ และ ลุยจิ เดินทางไปยังอาณาจักรแต่ละแห่ง เพื่อนำไม้กายสิทธิ์ที่ขโมยมาคืน และฟื้นฟูกษัตริย์ให้กลับมาเป็นปกติ
โดยในแต่ละภารกิจเมื่อจบฉากประจำอาณาจักรต่าง ๆ มาริโอกับลุยจิจะได้รับจดหมายพร้อมไอเท็มพิเศษจากเจ้าหญิงพีชเป็นรางวัล หลังจากช่วยกษัตริย์ทั้งหกพระองค์แรกได้สำเร็จ มาริโอ้กับลุยจิกลับได้รับจดหมายจากคูป้าว่าได้จับเจ้าหญิงพีชเอาไว้แล้ว ในปราสาทของอาณาจักรของตนที่เรียกว่าดาร์กแลนด์ สองพี่น้องจึงเดินทางไปดาร์กแลนด์และเอาชนะคูป้าเพื่อช่วยเจ้าหญิง นั่นคือเรื่องราวของเกมภาคนี้
Super Mario Bros. 3 กลายเป็นเกมที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น และกลายเป็นเกมที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับสองในปี 1988 ต่อจาก Dragon Quest III และภายในกลางปี 1989 Super Mario Bros. 3 ได้กลายเป็นเกมที่ขายดีที่สุดเป็นอันดับสองในญี่ปุ่น แซง Tetris ที่อยู่อันดับที่สอง นอกจากนี้ยังครองอันดับสูงสุดของชาร์ตยอดขายของญี่ปุ่นในเดือนมกราคมปี 1990 และในปี 1993 มีการขายตลับเกม Super Mario Bros. 3 ไปแล้ว 4 ล้านตลับในญี่ปุ่น ซึ่งเกมดังกล่าวขายได้ 14 ล้านชุดในปี 1995 และ 15 ล้านชุดในปี 1998 จนมาถึงปี 2000 เกมดังกล่าวขายได้มากกว่า 17 ล้านชุดทั่วโลก และถือสถิติเป็นวิดีโอเกมแบบไม่รวมชุดที่ขายดีและยาวนานที่สุดอีกด้วย
ใครที่สนใจก็ไม่ต้องลงทุนไปซื้อเครื่องกับตลับ Famicom มาเล่นให้เสียงเวลา เพราะตัวเกมถูกเอามาขายใหม่เรื่อย ๆ ตามเครื่องต่าง ๆ ของ Nintendo และแน่นอนว่า Nintendo Switch ก็มีเกมนี้แบบฉบับเก่าให้เล่น ส่วนใครที่สนใจอยากสะสมตลับเกม Famicom ของ Super Mario Bros. 3 ก็คงต้องทำใจเพราะราคาค่อนช้างสูงตามสภาพ ส่วนใครที่ไม่เคยเล่นแนะนำให้ลองดู ตัวเกมมีความลับต่าง ๆ ซ่อนอยู่เยอะมาก ลองไปหาสูตรต่าง ๆ มาเล่นดู แล้วคุณจะรู้ว่าทำไมเกม Super Mario Bros. 3 ถึงเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้