เชื่อได้ว่ามีเกมเมอร์หลายคนที่ไม่ค่อยได้ติดตามข่าวในช่วงก่อนหน้า เกิดความสงสัยเกี่ยวกับ Epic Games Store ถึงที่มาที่ไปของร้านค้าดังกล่าว รวมถึงปัญหาการต่อต้านจากเกมเมอร์ จนกระทั่งทำให้เกิดประเด็นต่าง ๆ เป็นระยะ โดยเราจะมาเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของร้านค้าเกมชื่อดังร้านนี้ให้อ่านกัน
กำเนิด Epic Games Store
Epic Games Store เป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายเกมบนแพล็ตฟอร์ม PC ผ่านระบบดิจิตอล โดยผู้ซื้อสามารถดาวน์โหลดตัวเกมมาเล่นผ่านโปรแกรมโดยไม่จำเป็นต้องมีแผ่น ซึ่งบริษัทผู้พัฒนาโปรแกรมดังกล่าวคือ Epic Games ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของเอ็นจิ้นพัฒนาเกมชื่อดังอย่าง Unreal Engine ทั้งยังเป็นผู้สร้างเกม Fortnite อีกด้วย
ทั้งนี้ในตลาดขายเกมดิจิตอล ก็มีร้านค้าต่าง ๆ มากมาย ที่ให้บริการเกม PC ในลักษณะนี้เช่นเดียวกันอีกหลายเจ้า อาทิ Steam ( Valve), Origin (EA), Uplay (Ubisoft), GOG และ Discord เป็นต้น ซึ่งช่องทางดังกล่าวเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกมเมอร์ รวมทั้งผู้พัฒนาเกมที่ต้องการช่องทางจำหน่ายเกมบนแพลตฟอร์ม PC เช่นเดียวกัน
เอาใจคนเล่นเกมและนักพัฒนาตอนเปิดตัว
Epic Games Store ได้เปิดตัวจนสะท้านทั้งวงการเกมว่า จะมีการแบ่งส่วนแบ่งให้กับทีมพัฒนาเกมถึง 88% ซึ่งแตกต่างจาก Steam ที่แบ่งให้นักพัฒนาเกม 70% ด้วยตัวเลขที่ยั่วยวนใจนี้ ทำให้นักพัฒนาเกมจำนวนมากสนใจที่จะเอาเกมไปขายบน Epic Games Store เพราะต้องการส่วนแบ่งที่เยอะกว่า
ขณะเดียวกันก็ได้มีการเอาใจคอเกม โดยการแจกเกมฟรีมาเรื่อย ๆ นับตั้งแต่เปิดตัวโปรแกรมมาวันแรก ซึ่งการแจกเกมฟรีก็เหมือนกับการแจกตัวอย่าง ให้คนเล่นเกมได้เข้าไปลองโหลดและใช้งานโปรแกรม Epic Games Store นั่นเอง โดยทาง Epic Games วางแผนจะมีแจกเกมยาวถึงสิ้นปี 2019 เลยทีเดียว

ตั้งประเด็นที่ 1 : สะท้านทั้งวงการ เมื่อ Epic ประกาศ Exclusive เกมจำนวนมาก แถมยังใช้เงินซื้อทีมพัฒนาให้นำเกมเข้ามาขาย
สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนและประเด็นที่ถกเถียงยาวจนมาถึงปัจจุบันคือ การที่ทาง Epic Games Store ได้ใช้งบในการซื้อตัวทีมพัฒนาเกม (และผู้จัดจำหน่ายเกม) ให้นำเกมวางขายบน Epic Games Store ก่อน และห้ามขายผ่านช่องทางอื่นเป็นเวลา 1 ปี เรียกอีกอย่างคือ ต้อง Exclusive เฉพาะบน Epic Games Store เท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกันกับทาง Sony ที่ได้ Exclusive เกมบน Play Station 4 ก่อนที่จะเอาเกมไปวางขาย PC ในภายหลัง
แม้ว่าจะไม่มีผลใดๆ กับคนที่กดพรีออเดอร์เกมล่วงหน้าบน Steam ก่อนวันยกเลิก แต่คนที่้พรีออเดอร์ไม่ทัน และมีความประสงค์จะเล่นบน Steam ก็ต้องรอไปอีก 1 ปี ถึงจะสามารถซื้อเกมเล่นได้

ตั้งประเด็นที่ 2 : โปรแกรมด้อยกว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่งดั้งเดิม
เหตุผลที่ Steam นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งรายได้ ให้กับทีมพัฒนาเกมเหมือนกับ Epic Games Store เนื่องจากทาง Steam ได้นำกำไรที่ได้ นำไปพัฒนาระบบของตน จนเป็นที่ถูกอกถูกใจเกมเมอร์ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Cloud Save, ระบบการ์ดที่จะสามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับผู้เล่นคนอื่น, ชุมชนบอร์ด และ Chat สนทนา ไปจนถึงระบบโปรแกรมที่มีความเสถียรที่สุด เป็นผลให้ผู้เล่นมีความพึงพอใจมากที่ได้เล่นเกมผ่านระบบ Steam

แต่สำหรับ Epic Games Store นั้น เนื่องจากโปรแกรมเพิ่งเปิดให้บริการ ตัวโปรแกรมเลยยังมีระบบไม่พร้อมเท่ากับ Steam ไม่มีส่วนของคอมมูนิตี้ ไม่มี Cloud Save ไม่มีระบบการแลกเปลี่ยน จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นจนได้ เมื่อมีผู้เล่นเซฟเกมหายจากเกม World War Z ด้วยการที่ตัวเกมนั้นมีปัญหาบั๊กในเกม หาก Epic Games Store มีระบบ Cloud Save ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งภายหลัง ทางตัวเกมเองได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้สำหรับคนไทย แม้ว่าราคาเกมจะปรับให้เหมาะสมกับบ้านเราแล้วก็ตาม แต่ค่าเงินก็ยังแสดงเป็นสกุลดอลล่าร์อยู่ รวมทั้งช่องทางในการสั่งซื้อเกมก็ไม่ได้ง่ายแบบที่ Steam มีให้

ตั้งประเด็นที่ 3 : มีการนำข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้บริการไปใช้โดยไม่มีการขออนุญาต
Epic ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อมีผู้ใช้งานค้นพบว่า Epic Games Store มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้โดยไม่อนุญาต โดยการไปเก็บข้อมูลผู้ใช้งานจาก Steam ซึ่งไม่ใช่แค่รายชื่อเพื่อนเท่านั้น แต่กลับไปเอาข้อมูลด้วยว่าเล่นเกมล่าสุดเมื่อไหร่, เซฟเกมตอนไหน รวมถึงบัญชีอีกด้วย แม้ว่าในเงื่อนไขของการสร้างบัญชีใช้งาน Epic Games Store นั้นจะมีการแจ้งเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ด้วยการที่ตัวโปรแกรมมีการแอบดึงข้อมูลไปโดยไม่ได้แจ้งให้คนเล่นทราบก่อน ส่งผลทำให้เกมเมอร์ไม่พอใจเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังมีการตีประเด็นไปอีกด้วยว่า ข้อมูลอาจถูกส่งต่อไปยัง Tencent ที่ถือหุ้นอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ทาง Epic Games ได้ออกมาปฏิเสธและยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง

ตั้งประเด็นที่ 4 : เกมที่ใช้การระดมทุน และบอกจะขายบน Steam กลับลำมาขายบน Epic Store แทน
ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด โดยการที่ทีมพัฒนาเกม และผู้จัดจำหน่ายเกมได้ผิดคำพูดกับผู้เล่น โดยการเอาเกมที่จากเดิม ประกาศว่าจะขายบน Steam ย้ายไปขายบน Epic Games Store แทนเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งรวมไปถึง เกมที่เกิดจากการระดมทุนจากคนเล่นเกมด้วย
ปัญหานี้ไม่ได้แค่สร้างความไม่พอใจกับผู้เล่นเพียงอย่างเดียว แต่กระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้เล่นที่มีต่อโครงการระดมทุนเพื่อพัฒนาเกมอีกด้วย เนื่องจากการผิดคำพูดดังกล่าวทำให้ไม่มีใครกล้าระดุมทุนให้อีก เพราะไม่ไว้ใจว่าทีมพัฒนาเกมจะกลับลำ เอาเกมไปขายบน Epic Games Store เช่นเดียวกับเกมก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยเกมที่มีปัญหานี้หนักสุดก็คือเกม Shenmue III ซึ่งเป็นประเด็นภายในงาน E3 2019 ที่ผ่านมา

ตั้งประเด็นที่ 5 : จัดเทศกาลลดราคาเกมขายใหม่ ๆ รวมทั้งเกมพรีออเดอร์ จนผู้พัฒนาต้องถอนตัว และทำระบบแบนผู้ซื้อเกมช่วงลดราคาที่ซื้อเร็วและถี่เกินไป
เมื่อไม่นานมานี้ ทาง Epic Game Store ได้มีการจัดเทศกาลลดราคาครั้งแรก โดยนอกจากลดราคาเกมภายในร้านปกติแล้ว ยังมอบส่วนลดให้อีก 10 ดอลล่าร์ หากผู้เล่นซื้อเกมครบ 14.99 ดอลล่าร์ โดยทางร้านฯ ได้ไปลดราคาเกมที่วางขายใหม่ ๆ รวมไปถึงเกมพรีออเดอร์ด้วย ทำให้ทีมพัฒนาเกมดังกล่าวต้องถอดเกมออกไป ได้แก่ Vampire: The Masquerade - Bloodlines 2 และ Borderlands 3
นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลดังกล่าวยังมีปัญหากับลูกค้าอีกด้วย โดยมีเกมเมอร์คนหนึ่งได้ซื้อเกมติดต่อกัน 5 เกม ระบบจึงมองว่าเขากำลังโกง และได้แบนบัญชีของเขาทันที ซึ่งแม้ว่าทาง Epic Games จะแจ้งให้ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าเพื่อแก้ไขปัญหานี้แล้วก็ตาม ยิ่งทำให้ข่าวนี้กระทบความเชื่อมั่นใน Epic Games Store เพิ่มขึ้นอีก เรียกได้ว่าในรอบหลังนี้มีปัญหากับทั้งผู้เล่น และค่ายเกมกันแบบครบวงจร
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า Epic Games Store จะใช้กลยุทธ์ใดในการทำการตลาด สุดท้ายแล้วการตัดสินอนาคตของแต่ละบริษัทก็อยู่ในมือของผู้บริโภคเช่นเดิม โดยเกมเมอร์มีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะยอมซื้อเกมจากร้านดังกล่าว และรอซักวันที่ทางผู้พัฒนาโปรแกรมจะพัฒนาระบบให้ทัดเทียมกับคู่แข่งเจ้าอื่น หรือจะยอมอดเล่นเป็นเวลา 1 ปี เพื่อรอให้เกมในระบบอื่นสามารถเปิดขายได้อย่างอิสระ แต่สำหรับส่วนอื่น ๆ เช่น การนำข้อมูลของผู้เล่นไปใช้นั้น Epic Games จะเรียกความเชื่อมั่นของคนเล่นกลับมาได้รึไม่ เวลาคือตัวตัดสิน